ที่มาของโครงการ 1+2+1

    ปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีประเด็นความท้าทายการพัฒนาในหลายมิติ ทั้งในมิติเศรษฐกิจที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจยังไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้อย่างเต็มที่ ผลิตภาพการผลิตของภาคบริการและภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำ คุณภาพและสมรรถนะของแรงงานยังไม่สอดคล้องกับความต้องการในการขับเคลื่อนประเทศ มิติทางสังคมที่ประสบปัญหาในการยกระดับรายได้ของประชาชนการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาคุณภาพและการขยายโอกาสในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณะ มิติสิ่งแวดล้อมที่การฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด็นสำคัญสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และมิติของการบริหารจัดการภาครัฐที่ยังขาดความต่อเนื่องและความยืดหยุ่นในการตอบสนองความต้องการในการแก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ, 2561)

    นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีสัดส่วนประชากรวัยแรงงานลดลงและประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด ความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ การเชื่อมโยงกันอย่างซับซ้อนจากการรวมกลุ่มภายในภูมิภาคและการเปิดเสรีด้านต่าง ๆ ตลอดจน  การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวจะก่อให้เกิดความท้าทายในการพัฒนาประเทศทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจสังคม และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการวางแผนยุทธศาสตร์ที่รอบคอบและครอบคลุมเพื่อเป็นกรอบในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

    ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561- 2580) เป็นยุทธศาสตร์ชาติฉบับแรกของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะต้องนำไปสู่การปฏิบัติเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุวิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เพื่อความสุขของคนไทยทุกคน โดยการพัฒนาประเทศในช่วงระยะเวลาของยุทธศาสตร์ชาติ จะมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง 2) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน 3) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม5) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ 6) ยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ

    โดยยุทธศาสตร์ชาติที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่สามด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ซึ่งมีเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญเพื่อพัฒนาคนในทุกมิติและในทุกช่วงวัยให้เป็นคนดี เก่ง และมีคุณภาพ โดยคนไทยมีความพร้อมทั้งกาย ใจ สติปัญญา มีพัฒนาการที่ดีรอบด้านและมีสุขภาวะที่ดีในทุกช่วงวัย มีจิตสาธารณะ รับผิดชอบต่อสังคมและผู้อื่น มัธยัสถ์ อดออม โอบอ้อมอารี มีวินัย รักษาศีลธรรม และเป็นพลเมืองดีของชาติ มีหลักคิด ที่ถูกต้อง มีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ ๒๑  มีทักษะสื่อสารภาษาอังกฤษและภาษาที่ ๓ และอนุรักษ์ภาษาท้องถิ่น มีนิสัยรักการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต สู่การเป็นคนไทยที่มีทักษะสูง เป็นนวัตกร นักคิด ผู้ประกอบการ เกษตรกรยุคใหม่และอื่น ๆ โดยมีสัมมาชีพตามความถนัดของตนเอง

    ประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย  ๗ ประเด็น ได้แก่ ๑) การปรับเปลี่ยนค่านิยมและวัฒนธรรม ๒) การพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ๓) ปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ๔) การตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย ๕) การเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดี ครอบคลุมทั้ง
ด้านกาย จิตใจ สติปัญญา และสังคม ๖) การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ และ 7) การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬาในการสร้างคุณค่าทางสังคมและพัฒนาประเทศ

    สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในฐานะหน่วยงานการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาที่ครอบคลุมในทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานให้เท่าเทียมกับการจัดการศึกษาในระดับนานาชาติ ที่แสดงให้เห็นถึงการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ตามประเด็นยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ผ่านโครงการส่งเสริมและพัฒนาการจัดการศึกษาในรูปแบบต่าง ๆ อย่างหลากหลาย

    กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) เป็นกลุ่มงานสำคัญภายใต้โครงสร้างของสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) ที่มุ่งเน้นการดำเนินงานโครงการเพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้และมีใจใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา โดยการปรับเปลี่ยนระบบการเรียนรู้ให้เอื้อต่อการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ ๒๑ การเพิ่มระสิทธิภาพระบบบริหารจัดการศึกษาในทุกระดับทุกประเภท และการสร้างระบบการศึกษาเพื่อเป็นเลิศทางวิชาการระดับานาชาติ ซึ่งผลการดำเนินงานตลอดหลายปีที่ผ่านมาพบว่าโครงการต่าง ๆ ของกลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.)ได้บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะด้านการส่งเสริมการจัดการศึกษาวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ แต่เนื่องด้วยสภาพเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพียงด้านใดด้านหนึ่งจึงไม่เพียงพออีกต่อไป

    การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ และแผนการศึกษาชาติ เรื่องการส่งเสริมและสนับสนุนเยาวซนไทยที่มีความเป็นเลิศในด้านต่าง ๆ ให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ ตามศักยภาพและความถนัดของแต่ละบุคคล โดยพัฒนานักเรียนที่มีความเป็นเลิศทางภาษา และมีสมรรถนะเฉพาะด้านเหมาะสมกับการต่อยอดสู่การเป็นนวัตกรรุ่นใหม่ให้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านกระบวนการที่หลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมนักเรียนทั้งในด้านวิชาการ ต้านทักษะอาชีพ และด้านทักษะชีวิต ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ การสร้างเสริมประสบการณ์อาชีพ (Work Experience) การเรียนผ่านหลักสูตรระยะสั้น รวมถึงการศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ ทั้งในและต่างประเทศ

    การศึกษาต่อในต่างประเทศ นอกจากเป็นการวางรากฐานทั้งด้านความรู้ และทักษะให้กับนักเรียนเพื่อนำไปใช้ในการทำงานแล้วนั้นยังเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สร้างเสริม และสั่งสมประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย บนพื้นฐานของความแตกต่างทางเชื้อชาติ และวัฒนธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง หากศึกษาอยู่แต่เพียงในระเทศไทย ดังนั้น โครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1+2+1” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียน จึงเพิ่มโอกาสในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไทย จีน และอาเซียน อีกทั้งยังส่งเสริมการลงมือปฏิบัติ ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้ประกอบการและความสามารถในการปรับตัวในด้านธุรกิจการค้า

    กลุ่มวิจัยและพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (วพร.) เห็นควรริเริ่มการดำเนินงาน โครงการความร่วมมือทางการศึกษา “1+2+1” สำหรับการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาวิชาธุรกิจระหว่างประเทศ ธุรกิจจีน-อาเซียนเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาเครือข่ายองค์กรแห่งการเรียนรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับชาติและระดับนานาชาติที่มุ่งเน้นการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาซึ่งช่วยให้เกิดการตระหนักถึงพหุปัญญาของมนุษย์ที่หลากหลาย ได้แก่ 1) ด้านภาษา (Linguistic Intelligence) 2) ด้านตรรกศาสตร์และคณิตศาสตร์ (Logical – Mathematical Intelligence) และ 3) ด้านมนุษยสัมพันธ์ (Interpersonal Intelligence) โดยการพัฒนาและส่งเสริมพหุปัญญาผ่านครอบครัว สถานศึกษา สภาพแวดล้อม และเทคโนโลยี และสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างเส้นทางอาชีพ สภาพแวดล้อมการทำงาน และระบบสนับสนุนที่เหมาะสมสำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและหน่วยงานการศึกษาชั้นนำ ทั้งในและต่างประเทศ โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประเทศไทย และมหาวิทยาลัยกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีนมีส่วนร่วมในการยกระดับการจัดการศึกษาของประเทศไทยและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีศักยภาพและมีสมรรถนะสอดคล้องกับความต้องการของสังคมโลกต่อไป